
ญี่ปุ่นเตรียมลดระดับโควิด-19 จากโรคระบาดประเภทที่ 2 ไปเป็นประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ เริ่มตั้งแต่ 8 พ.ค.นี้
ข่าว การปรับลดระดับครั้งนี้เป็นการปูทางให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ที่ยังบังคับใช้อยู่ ส่วนเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยทั้งในตัวอาคารและนอกอาคาร ให้เป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ญี่ปุ่นเตรียมลดระดับโควิด-19 จากโรคระบาดประเภทที่ 2 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับวัณโรค ไปเป็นโรคระบาดประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแทน โดยหากเปรียบเทียบกับชาติตะวันตกชาติอื่นๆ นับว่าญี่ปุ่นยังเดินหน้าในแผนยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ค่อนข้างช้า แต่การปรับลดระดับครั้งนี้จะนับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ เพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดอีกครั้ง อย่างน้อยก็เริ่มจากมุมมองทางด้านนโยบาย ส่วนเรื่องของการสวมหน้ากากนั้น ถือเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล หลังจากที่บังคับใช้มาตรการนี้มาอย่างยาวนาน ญี่ปุ่นมีการจัดประเภทของโรคติดเชื้อแบ่งเป็น 5 ประเภท โดยอีโบลา และกาฬโรคซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่สุดถูกจัดอยู่ในประเภท 1 ส่วนวัณโรค และซาร์ส ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 2 อหิวาตกโรคอยู่ในประเภทที่ 3 และไข้เหลืองอยู่ในประเภทที่ 4 ส่วนไข้หวัดใหญ่ ซิฟิลิสอยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งโควิด-19 จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทนี้ โดยตามหลักปฏิบัติทั่วไปแล้ว หากโรคใดถูกจัดอยู่ในประเภทอันดับต้นๆ ก็จะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และแยกกักตัวผู้ป่วยได้ และในสถานการณ์ดังกล่าว ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ก็จะครอบคลุมอยู่ในความดูแลของรัฐ และหากเป็นกรณีของโรคที่รุนแรงมากๆ ก็จะต้องมีโรงพยาบาลเฉพาะโรคเพียงไม่กี่แห่งที่ให้การดูแลคนไข้ได้ เพื่อให้การดูแลรักษาอาการเป็นไปอย่างเหมาะสม และเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ การจัดประเภทส่งผลอย่างไรบ้าง? ในปัจจุบันนี้ มาตรการที่ใช้กับโควิด-19 ถือว่ามีความเข้มงวดมากกว่าที่ใช้กับโรคประเภท 1 เลยด้วยซ้ำ โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ป่วยให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงาน และออกจากบ้าน ขณะที่เทศบาลยังมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล หากผู้ป่วยปฏิเสธที่จะกักตัวในโฮสเทล หรือที่บ้าน ซึ่งหากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกปรับด้วย ขณะที่โรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยโควิด-19 มารักษาได้ จะต้องเป็นโรงพยาบาลเฉพาะ หรือที่เรียกว่าคลินิกไข้หวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมหน่วยงานสาธารณสุขถึงรับมือไม่ไหวเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหญ่ในประเทศแต่ละที นอกจากนี้ การจัดประเภทโควิด-19 ให้อยู่ในระดับ 2 ในปัจจุบัน จะทำให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะกึ่งฉุกเฉินได้ หากการติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนทางเทศบาลก็จะสามารถจำกัดเวลาการเปิดร้านรวงต่างๆ ทั้งร้านค้า ร้านอาหารและบาร์ด้วย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโควิด-19 ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 5
การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดนั่นก็คือผู้ติดเชื้อจะไม่จำเป็นต้องกักตัวอีกต่อไป และยังรวมถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดก็ไม่จำเป็นต้องกักตัวแล้วเช่นกัน จากที่ในตอนนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงต้องกักตัวเป็นเวลา 7 วัน และอาจจะลดลงเหลือ 5 วัน
ถ้าตรวจเชื้อแล้วไม่พบว่ามีเชื้อแล้ว หลังจากที่มีการลดประเภทของโรคลงมา รัฐบาลกลางจะไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือกึ่งฉุกเฉิน และหมายความว่าร้านอาหาร ร้านค้า บาร์ ไม่จำเป็นต้องปิด หรือลดเวลาเปิดให้บริการอีกต่อไป ส่วนเรื่องการจำกัดการข้ามพรมแดนที่ปัจจุบันยังคงจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของนักเดินทางจีน ก็อาจจะผ่อนคลายไปเช่นกัน อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือการที่โรงพยาบาลและคลินิกทั่วไปจะสามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ด้วย ทำให้ช่วยผ่อนคลายระบบสาธารณสุขของประเทศลง อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่ง การที่โรงพยาบาล หรือศูนย์การแพทย์ทั่วไปที่ไม่เคยรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน ก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมและมาตรการต่างๆ ให้บุคลากร ข่าวทันโลกข่าวต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้โควิดแพร่โรคในสถานพยาบาลด้วย นอกจากนี้การจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ขนาดใหญ่ การแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ตต่างๆ จะสามารถจัดได้ โดยให้มีคนดูเต็มความจุของสถานที่ แม้ว่าจะยังต้องสวมหน้ากากอยู่ก็ตาม ประเด็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด ในตอนนี้รัฐบาลยังคงจ่ายค่ารักษาพยาบาลบางส่วน หรือทั้งหมดให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน แต่เมื่อใดที่โรคนี้ถูกจัดประเภทไปอยู่ในประเภทที่ 5 นั่นหมายความว่าผู้ป่วยจะต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง 30 เปอร์เซ็นต์เหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ตามระบบบริการสุขภาพของรัฐ แต่รายละเอียดเรื่องนี้อาจจะต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งจากมติของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลว่าการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่ม อาจจะทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงที่จะไปพบแพทย์ ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ช้าลง ส่วนเรื่องของ วัคซีนโควิด ตอนนี้ยังคงบริการฉีดให้ฟรีไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และยังมีแนวโน้มที่กระทรวงสาธารณสุขจะเห็นชอบให้ยังคงมีบริการฟรีต่อไป แต่ยังคงอยู่ระหว่างการหารือ อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของการเปลี่ยนแผน? เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ถือเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายมากกว่าเชื้อตัวอื่นๆ ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และยังทำให้มีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ทำให้มีอาการป่วยรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า 3.88 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรวัย 60-70 ปี ในจังหวัดอิชิกาวา อิบารากิ และฮิโรชิมา ที่ติดเชื้อรุนแรงในช่วงการระบาดของเชื้อเดลตา มีอัตราการเสียชีวิตในคนกลุ่มอายุนี้ที่ 1.34 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในช่วงที่เชื้อโอมิครอนระบาด ตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ลดลงมาที่ 0.26 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตลดลงมาอยู่ที่ 0.18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในกลุ่มอายุเดียวกันแล้วมีผู้ที่มีอาการรุนแรง 0.37 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าโควิด-19 ด้วยซ้ำ ตัวเลขเหล่านี้จึงเป็นตัวเลขที่น่าสนใจและน่าจะคุ้มค่าเมื่อต้องแลกระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่กับการกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดโรคให้เร็วที่สุด.