
ฟู้ดแพชชั่น ผุดบาบีคิวพลาซ่า-เรดซันโฉมใหม่ พร้อมดึงนวัตกรรมหุ่นยนต์-แอพเสริมงานบริการ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคหลังโควิด เล็งขยาย 30 สาขา ปี ’66 ตามแผนโฟกัสลูกค้านอกห้าง ก่อนลุยปักธงลาว, สิงคโปร์, เวียดนามและฟิลิปปินส์ วางเป้าปี 2568 กวาดรายได้ 4,500 ล้านบาท จาก 270 สาขาในไทยและ 47 สาขาในต่างประเทศ
การเงิน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นางชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2566 ยังมีแนวโน้มท้าทายทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังทรง-ถดถอย และปัญหาขาดแคลนกำลังคน รวมถึงจำนวนลูกค้าในห้างที่ยังไม่ฟื้นกลับมา 100% ขณะเดียวกันยังเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องตามให้ทันทั้งการทานอาหารนอกร้าน ความสนใจด้านสุขภาพ การนำระบบอัตโนมัติมาจัดการข้อมูลอินไซต์ของลูกค้าเพื่อสร้างแคมเปญ-โปรโมชั่นที่ตรงใจ ดังนั้นปี 2566 ที่จะถึงนี้จะปรับยุทธศาสตร์หลายด้านโดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารที่จะเน้นรองรับการทานอาหารนอกร้านมากขึ้น ทั้งด้วยการปรับโฉมร้านบาบีคิวพลาซ่า และร้านเรดซัน ซึ่งจะเห็นได้ทั้งในสาขาเดิมที่จะรีโนเวทและสาขาใหม่ที่จะเปิดเพิ่ม รวมถึงเพิ่มบริการ-นวัตกรรมใหม่ ๆ ในร้าน เพื่อรับเทรนด์การทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างการสั่งอาหารไปกินที่บ้าน (Take-home) หรือสั่งผ่านเดลิเวอรี่ พร้อมคุมค่าใช้จ่าย-รับมือปัญหาขาดแรงงานไปพร้อมกันขณะเดียวกันจะเดินหน้ารุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มไม่ว่าจะเป็น ลาว, สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ จากปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์ในมาเลเซีย อินโดนีเซียและกัมพูชาอยู่แล้ว พร้อมกับเร่งสปีดการขยายสาขาด้วยการตั้งซับไลเซ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ ตามเป้าที่จะสร้างรายได้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท หรือมีรายได้แตะ 4,500 ล้านบาท ภายในปี 2568 ซึ่งในจำนวนนี้ 20% จะมาจากการทานนอกร้าน หลังจากปี 2565 นี้คาดว่าจะมีรายได้ 3,500 ล้านบาท การทานนอกร้านมีสัดส่วน 8% รวมถึงมีสาขาในไทย 270 สาขา จากปัจจุบันมี 148 สาขา สำหรับการปรับโฉมร้านนั้น ในส่วนของร้านบาบีคิวพลาซ่า จะทยอยรีโนเวทสาขาเดิมทั้ง 148 สาขา โดยปี 2566 จะรีโนเวท 50 สาขา ปรับบรรยากาศในร้านให้โล่งโปร่งมากขึ้นด้วยการใช้สีโทนสว่างขาว-เขียว รวมถึงขยายความกว้างของทางเดินเพื่อรองรับหุ่นยนต์ GON Bot ซึ่งจะนำมาใช้ใน 60 สาขา เพื่อช่วยรับมือปัญหาขาดแรงงานในร้านอาหาร
โดยในปี 2566 จะเปิดสาขาโมเดล GEX เพิ่มอีก 25 สาขา ในทำเลนอกห้างสรรพสินค้า อย่าง ปั๊มน้ำมัน, อาคารสำนักงาน, คอนโด ฯ, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอมมูนิตี้มอลล์ ฯลฯ หลังการทดลองตั้งแต่ต้นปี 2565 ประสบความสำเร็จ จนปัจจุบันมี 8 สาขา รวมถึงจะเปิดสาขาโมเดลธรรมดาอีก 5 สาขา
ส่วนร้านเรดซัน จะทดลองโมเดลใหม่ที่เน้นย้ำความเป็นเกาหลีมากยิ่งขึ้นทั้งการตกแต่งร้าน และวัตถุดิบนำเข้าจากเกาหลี โดยจะทดลองด้วย ป๊อปอัพสโตร์ในรูปแบบเต้นติดแอร์ ตกแต่งด้วยบรรยากาศสไตล์เกาหลี เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งด้านการลงทุนน้อยกว่าเปิดร้านถาวร และความคล่องตัวในการนำไปเปิดในจุดต่าง ๆ รวมสามารถปรับการตกแต่งตามเทศกาลได้ง่าย โดยจะทดลองให้บริการสาขาแรกที่สยามสแควร์ ใกล้กับเรดซันสาขาแฟล็กชิป ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นี้ ด้านบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในร้านนั้นจะมีไฮไลท์เป็น ดิจิทัล สโตลร์ Digital Store ที่เน้นประสบการณ์ดิจิทัลที่ไม่มีที่อื่น ผ่านการใช้แอพ ฯ จองคิว สั่งอาหาร ชำระเงินแบบจบในที่เดียว อาทิ ระบบแนะนำเมนูโปรด สามารถสั่งอาหารพร้อมกันได้ทั้งโต๊ะ แลกแต้มสมาชิกเป็นส่วนลด เป็นต้น นำร่องสาขาแรกที่สีลม คอมเพล็กซ์ โดยพัฒนาระบบร่วมกับ Hato Hub โดยตั้งเป้าเปิด Digital Store ทั้งหมด 40 สาขา ภายในปี 2566 รวมไปถึงนำระบบแคชเลส (Cashless) หรือการชำระค่าอาหารแบบไม่ใช้เงินสดมาใช้ใน 50% ของสาขาทั้งหมด พร้อมจูงใจลูกค้าด้วยการให้ส่วนลดมากกว่าการชำระด้วยเงินสดหรือบัตรเครดิต ทั้งนี้เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าปัจจุบันที่ 75% ชำระค่าอาหารแบบแคชเลสแล้ว ข่าวการเงิน ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการบริหารจัดการเงินสด อย่างการนับและนำไปฝากธนาคารลง ขณะเดียวกันจะมีแคมเปญและโปรโมชั่นที่เน้นความคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ด้านสภาพเศรษฐกิจ โดยอาศัยการนำฐานข้อมูลสมาชิกมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแคมเปญ-โปรโมชั่นที่ตอบโจทย์แต่ละราย ในส่วนของตลาดต่างประเทศจะเน้นกลยุทธ์ โลคอลไลเซชั่นหรือการปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าท้องถิ่น ควบคู่กับเมนูที่มีเฉพาะในแต่ละประเทศ และเมนูที่สื่อถึงความเป็นไทยอย่าง ก๋วยเตี๋ยวเรือ หมูกะทะ ยำต่าง ๆ เป็นต้น